ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome)  (อ่าน 4 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 255
  • ซื้อขายสินค้ายานยนต์ โพสฟรีสินค้าทั่วไทย
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome)

โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน (กลุ่มอาการสตรีวัยหมดระดู ก็เรียก) เป็นภาวะที่พบในช่วงใกล้และหลังวัยหมดประจำเดือน คือในช่วงอายุระหว่าง 40-60 ปี ซึ่งนิยมเรียกว่า วัยทอง

วัยหมดประจำเดือน (menopause) จะนับตั้งแต่ระยะเวลา 12 เดือน หลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปมักอยู่ในช่วงอายุประมาณ 51-55 ปี (ประมาณ 51 ปีโดยเฉลี่ย) บางรายอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 40 ปี ถ้าเกิดขึ้นก่อนอายุ 40 ปี เรียกว่า วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (premature menopause)

สาเหตุ

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิงในวัยนี้ที่รังไข่ค่อย ๆ ลดจนกระทั่งหยุดทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนอย่างถาวร ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือน (ระดู) ที่เคยเกิดขึ้นเป็นวงจรในแต่ละเดือน

เนื่องจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนถึงวัยหมดประจำเดือนและการลดลงของเอสโทรเจนอย่างมากในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจต่าง ๆ ซึ่งค่อย ๆ เป็นมากขึ้น และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะพร่องเอสโทรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต่อมาอีกหลายปีจนเข้าสู่วัยสูงอายุ

ส่วนวัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (มีมารดาที่เกิดภาวะเดียวกัน) หรือเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองก็ได้ และบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

อาการ

ระยะใกล้ถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเรียกว่า วัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนประมาณ 2-8 ปี บางรายอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัดก็ได้

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกับความแกว่งขึ้นลงของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน รวมทั้งภาวะพร่องเอสโทรเจนในที่สุด โดยมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นอาการแรกเริ่ม อาจมาก่อนหรือช้ากว่าปกติ อาจออกน้อยหรือมากไม่แน่นอน บางรายประจำเดือนอาจหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใหม่ หรืออาจมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือน จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก็ได้

ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการร้อนซู่ช่าตามผิวกาย ซึ่งพบได้ประมาณ 3 ใน 4 คน โดยมีอาการร้อนตามใบหน้า ต้นคอ หัวไหล่ แผ่นหลังในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 30 วินาที ถึง 5 นาที (เฉลี่ยประมาณ 2-3 นาที) อาจเป็นทุกชั่วโมง หรือทุก 2-3 วัน และมักจะเป็นในช่วงกลางคืน ในรายที่เป็นมากอาจทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย หงุดหงิด หรือนอนไม่หลับ อาการร้อนซู่ช่ามักเป็นอาการชักนำให้ผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์ มักมีอาการนำมาก่อนจะถึงวัยหมดประจำเดือน 1-2 ปี และจะหายไปหลังจากหมดประจำเดือนแล้วประมาณ 1-2 ปี มักไม่เกิน 5 ปี แต่บางรายอาจนานเกิน 5 ปีขึ้นไป ความถี่และความรุนแรงของอาการร้อนซู่ช่าจะแตกต่างกันไปในหญิงแต่ละคน นอกจากนี้ยังขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการถี่ขึ้นได้ เช่น การกินอาหารเผ็ด การดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ อากาศร้อน ความเครียด ปัญหาครอบครัว เป็นต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออก โดยเฉพาะตอนกลางคืน และอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ (อาการทางจิตประสาท) เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลง ๆ ลืม ๆ ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ เป็นต้น

ผู้ป่วยมักมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและลงพุง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การนอนไม่หลับ และเป็นไปตามวัยที่ร่างกายมีการเผาผลาญน้อยลง รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตามข้อ เป็นต้น

ในระยะต่อมา เมื่อเกิดภาวะพร่องเอสโทรเจน ก็อาจมีอาการเยื่อบุช่องคลอดแห้ง อาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ผิวหนังแห้ง ริมฝีปากแห้ง ผมแห้ง ผมร่วง เป็นต้น
 

ภาวะแทรกซ้อน

มักเป็นผลมาจากภาวะพร่องเอสโทรเจน ที่สำคัญได้แก่

    เยื่อบุช่องคลอดบาง แห้ง และขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดเวลาร่วมเพศ มีเลือดออกหลังร่วมเพศ และช่องคลอดอักเสบได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
    กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานหย่อนยาน ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาหัวเราะ ไอ หรือยกของหนัก ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
    เยื่อบุท้องปัสสาวะบาง ทำให้มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
    ผิวหนังบาง แห้ง และขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน
    ภาวะกระดูกพรุน ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงหลังหมดประจำเดือน (ดู "โรคกระดูกพรุน" เพิ่มเติม)
    ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน โดยพบว่าแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง และเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ
    โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน อายุมากกว่า 60-65 ปี
    โรคสมองเสื่อม หลง ๆ ลืม ๆ ซึ่งมักเกิดช่วงย่างเข้าวัยสูงอายุ


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก

การตรวจร่างกายมักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

บางรายอาจพบว่ามีอาการผมบาง เต้านมลดความเต่งตึง มีไขมันที่หน้าท้อง

อาจตรวจพบความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งเป็นการพบโดยบังเอิญตามวัย ไม่เกี่ยวกับภาวะพร่องเอสโทรเจน

บางกรณีแพทย์อาจยืนยันการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือดพบว่าระดับฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ (follicle stimulating hormone/FSH) และฮอร์โมนแอลเอช (luteinizing hormone/LH) สูง และระดับเอสโทรเจน (ที่มีชื่อว่า estradiol) ต่ำ

แพทย์อาจทำการตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นที่มีอาการคล้ายกับโรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน ที่พบบ่อย คือ ภาวะขาดไทรอยด์ โดยทำการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ในเลือด (thyroid-stimulating hormone/TSH)

นอกจากนี้อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อตรวจกรองภาวะหรือโรคที่พบร่วม (ซึ่งอาจแฝงอยู่โดยยังไม่แสดงอาการ) เช่น ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด (อาจพบเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ) ตรวจกรองมะเร็งเต้านมโดยการถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) ตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจแพ็ปสเมียร์ ตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุมดลูกในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ ตรวจความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

1. ถ้าผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ต้องให้ยารักษาแต่อย่างใด แพทย์จะให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ และจะค่อย ๆ หายไปได้เอง

2. ถ้าไม่มีอาการไม่สุขสบายมาก ให้ยารักษาตามอาการ ถ้าปวดศีรษะหรือปวดข้อ ให้ยาแก้ปวด ถ้ามีความรู้สึกวิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ใช้ยาทางจิตประสาท เป็นต้น

3. ถ้าอาการไม่ดีหรือมีอาการมาก (เช่น ออกร้อนซู่ซ่ามาก เจ็บปวดเวลาร่วมเพศ ปัสสาวะเล็ด เป็นต้น) แพทย์จะให้กินฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน (hormone replacement therapy/HRT) เพื่อลดอาการไม่สบายต่าง ๆ เช่น อาการร้อนซู่ช่า ปัสสาวะเล็ด ภาวะเยื่อบุช่องคลอดและผิวหนังบางและแห้ง อาการทางจิตประสาท เป็นต้น

แพทย์จะเลือกใช้ขนาดยาที่ต่ำที่สุดที่ทำให้มีประสิทธิผลในการรักษา นัดผู้ป่วยติดตามผลเป็นระยะ และปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดของยาเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง ระยะเวลาที่ให้ยาฮอร์โมนทดแทนขึ้นกับข้อบ่งชี้ที่ให้และการตอบสนองต่อการรักษา โดยทั่วไปถ้าให้เพื่อลดอาการร้อนซูซ่า อาการทางจิตประสาท หรือปวดข้อและกล้ามเนื้อ อาจให้นานประมาณ 1-2 ปี ไม่เกิน 2 ปี

ในกรณีที่ไม่ได้ให้ฮอร์โมนทดแทน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการที่พบ เช่น ในรายที่มีช่องคลอดอักเสบจากเยื่อบุช่องคลอดบางและแห้ง ให้ใช้ครีมเอสโทรเจนทาช่องคลอดทุกคืน หรือทาทุกคืนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วเว้น 1 สัปดาห์ สลับไปเรื่อย ๆ ในรายที่มีอาการเจ็บปวดเวลาร่วมเพศ ก่อนร่วมเพศให้ใช้เจลลีหล่อลื่น เช่น เจลลีเค-วาย (K-Y Jelly) ใส่ในช่องคลอด ในรายที่มีอาการร้อนซู่ช่า แพทย์อาจให้ยาฟลูออกซีทีน (fluoxetine) กาบาเพนทิน (gabapentin) หรือโคลนิดีน (clonidine) เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ให้การรักษาภาวะอื่น ๆ ตามที่ตรวจพบ เช่น ไขมันในเลือดผิดปกติ กระดูกพรุน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น

ผลการรักษา การได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์และการดูแลตนเองอย่างจริงจัง ช่วยให้อาการบรรเทาลง มีความสุขสบาย นอกจากนี้แพทย์สามารถค้นพบภาวะหรือโรคที่แฝงอยู่ในร่างกาย ช่วยให้ได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ช่วยให้ทุเลาหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการร้อนซู่ช่า หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ (เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลง ๆ ลืม ๆ ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ เป็นต้น) ในวัยหมดประจะเดือน ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน ควรดูแลตนเอง ดังนี้

1. รักษา กินยาตามคำแนะนำของแพทย์

2. ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด

3. ปฏิบัติตัว ดังนี้

    ออกกำลังกายเป็นประจำ
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การฝึกโยคะ มวยจีน ทำสมาธิ เป็นต้น
    ควบคุมน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย
    ไม่สูบบุหรี่
    กินถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้เป็นประจำ
    หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ออกร้อนตามผิวกาย เช่น อาหารเผ็ด กาแฟ แอลอฮอล์ เป็นต้น


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    กินยาแล้วอาการไม่ทุเลา หรือมีอาการไม่สุขสบาย เช่น ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะแสบขัด เยื่อบุช่องคลอดแห้ง เจ็บปวดเวลาร่วมเพศ มีอารมณ์ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

ภาวะหมดประจำเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกายซึ่งไม่อาจป้องกันได้

เมื่อมีอาการของโรคของหญิงวัยหมดประจำเดือนเกิดขึ้นแล้ว ควรปฏิบัติตัว (เช่น การกินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หาทางผ่อนคลายความเครียด) และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยทำให้อาการทุเลา และป้องกันภาวะแทรกซ้อน

ข้อแนะนำ

1. ในระยะแรกเริ่ม ซึ่งผู้ป่วยมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ หากไม่ประสงค์จะมีบุตร ควรทำการคุมกำเนิด หากไม่ได้คุมกำเนิดแล้วมีอาการขาดประจำเดือนหรือมีอาการแพ้ท้อง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่

2.ผู้หญิงที่ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรือมีการรักษามะเร็งรังไข่ด้วยรังสีบำบัดตั้งแต่ก่อนวัยหมดประจำเดือน จะมีภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งเกิดอาการแบบโรคของวัยหมดประจำเดือนได้ แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยกินเอสโทรเจนทดแทนอย่างต่อเนื่องจนถึงวัยหมดประจำเดือน

3. ผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือน (อายุ 40-50 ปี) ถ้าหากมีเลือดออกจากช่องคลอดกะปริดกะปรอย หรือออกนานกว่าปกติ หรือกลับมีประจำเดือนครั้งใหม่หลังจากหมดไปนานกว่า 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว อาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุมดลูกก็ได้ อย่าคิดว่าเป็นอาการของภาวะใกล้หมดประจำเดือน

4. ในปัจจุบันพบว่า การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนร่วมกับโพรเจสเทอโรนติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วน้ำดี โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งเต้านม ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ดังนั้นแพทย์จะใช้ฮอร์โมนทดแทนในการบำบัดกลุ่มอาการของหญิงวัยหมดประจำเดือนเท่าที่จำเป็น และใช้เป็นเพียงระยะไม่นาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนในรายที่มีภาวะที่เป็นข้อห้ามใช้