ผู้เขียน หัวข้อ: หมอประจำบ้าน: ไอทีพี/เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านตัวเอง (Immune thrombocytopenia /IT  (อ่าน 18 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 234
  • ซื้อขายสินค้ายานยนต์ โพสฟรีสินค้าทั่วไทย
    • ดูรายละเอียด
หมอประจำบ้าน: ไอทีพี/เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านตัวเอง (Immune thrombocytopenia /ITP)

ไอทีพี/เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านตัวเอง หมายถึง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เป็นผลมาจากร่างกายมีปฏิกิริยาภูมิต้านเกล็ดเลือดของตัวเอง ทำให้มีเลือดออกง่าย มีอาการสำคัญคือเกิดจุดแดง จ้ำเขียว ตามผิวหนัง

โรคนี้เดิมมีชื่อว่า "Idiopathic thrombocytopenic purpura/ITP" ปัจจุบันเรียกว่า "Immune thrombocytopenia/ITP" ("Immune thrombocytopenic purpura", "Autoimmune thrombocytopenic purpura", "Autoimmune thrombocytopenia" ก็เรียก)

โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กพบบ่อยในช่วงอายุ 2-6 ปี ซึ่งมักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัส และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่

ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดหลังติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดและอาจมีอาการนานเกิน 6 เดือน ซึ่งเรียกว่า "ไอทีพีชนิดเรื้อรัง"

สาเหตุ

ผู้ป่วยจะมีการสร้างเกล็ดเลือดที่ไขกระดูกได้ตามปกติ แต่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเนื่องเพราะร่างกายมีปฎิกิริยาภูมิต้านตัวเองหรือออโตอิมมูน (autoimmune) กล่าวคือ ร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือด (platelet antibody) ขึ้นมาทำลายเกล็ดเลือดของตัวเอง ทำให้จำนวนเกล็ดเลือด (ซึ่งทำหน้าที่จับเป็นลิ่มเพื่อการห้ามเลือด) ลดน้อยลง ทำให้มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก

ส่วนสาเหตุของการเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวยังไม่ทราบชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านไวรัส)

พบว่าในเด็ก มักเกิดอาการหลังติดเชื้อไวรัส (เช่น อีสุกอีใส คางทูม ไข้หวัดใหญ่) ส่วนในผู้ใหญ่ อาจถูกกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบด้วยการติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น เอชไอวี ตับอักเสบจากไวรัสซี การติดเชื้อเอชไพโลไรซึ่งทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหาร/แผลลำไส้เล็กส่วนต้น)

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคออโตอิมมูน เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เอสแอลอี มีโอกาสพบโรคนี้มากกว่าคนปกติทั่วไป

อาการ

ผู้ป่วยจะมีเลือดออกง่ายที่ใต้ผิวหนัง ซึ่งมักเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ (เช่น การชนหรือกระแทก) เห็นเป็นรอยฟกช้ำดำเขียวขนาดใหญ่ หรือก้อนเลือดขังที่ใต้ผิวหนัง

อาจอยู่ ๆ เกิดจุดแดงหรือจ้ำเขียว (รอยเลือดออกขนาดเล็ก) ขึ้นตามตัว ซึ่งมักพบบ่อยที่หน้าแข้งและเท้า

บางรายอาจมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ  เช่น มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนออกมากอย่างผิดปกติ เป็นต้น

ถ้ามีบาดแผลเลือดออกที่เกิดจากการบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือ ถอนฟัน มักมีเลือดออกมากและหยุดยาก

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่มีอาการซีด ยกเว้นถ้ามีเลือดออกมากและนาน

ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ ตับม้ามและต่อมน้ำเหลืองไม่โต

ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่มีเลือดออกมากหรือเรื้อรัง อาจเกิดอาการซีด อ่อนเพลีย

สำหรับผู้หญิง ขณะคลอดบุตรอาจมีการตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรงได้ (แพทย์จะให้ยารักษาขณะฝากครรภ์ เพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด)

ที่พบได้น้อย แต่มีอันตรายร้ายแรง คือ มีเลือดออกในสมอง (มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก คอแข็งหรือก้มคอไม่ลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว ชัก) ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

สิ่งตรวจพบที่สำคัญ ได้แก่ พบจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว รอยฟกช้ำดำเขียวหรือก้อนเลือดขังที่ใต้ผิวหนัง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ

ในรายที่สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อเอชไอวี ตับอักเสบจากไวรัสซี หรือการติดเชื้อเอชไพโลไร แพทย์ก็จะทำการหาเชื้อพวกนี้

กรณีที่มีความจำเป็นต้องตรวจเพื่อแยกจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจไขกระดูก (ซึ่งจะพบว่าปกติสำหรับโรคนี้)

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

ในรายที่มีอาการเล็กน้อย แพทย์จะทำการติดตามสังเกตดูอาการและตรวจเลือดดูปริมาณเกล็ดเลือด โดยไม่ต้องให้ยารักษา ซึ่งส่วนใหญ่มักหายได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก

ในรายที่มีเลือดออกมาก จะให้เลือดหรือเกล็ดเลือด       

ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ แพทย์จะรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) แล้วตรวจเลือดสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้าไม่ได้ผล อาจเพิ่มขนาดของยาให้ได้ผล ถ้าได้ผลจะค่อย ๆ ลดขนาดของยาลง จนกระทั่งหยุดยา เมื่อลดยาหรือหยุดยาแล้วกลับมีอาการใหม่ ก็เริ่มให้ยานี้ใหม่อีก ผู้ป่วยส่วนมากจะหายได้ภายใน 2-3 เดือน แต่บางรายอาจเป็นนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป

ผู้ป่วยบางรายที่รักษาไม่ได้ผล อาจต้องพิจารณาให้อิมมูโนโกลบูลินฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (intravenous immunoglobulin/IVIG) หรือการตัดม้าม เพื่อลดการทำลายเกล็ดเลือด

หากรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยการให้ยากระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด (เช่น romiplostim, eltrombopag) หรือ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น วินคริสทีน (vincristine), ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide), อะซาไทโอพรีน (azathioprine), ไรทูซิแมบ (rituximab) เป็นต้น

ผลการรักษา ในเด็กมักมีอาการไม่รุนแรงและมักหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ บางรายอาจเป็น 2-3 เดือน (นานสุดไม่เกิน 6 เดือน) และไม่มีการกำเริบใหม่ ส่วนน้อยที่อาจต้องให้การรักษาแบบเดียวกับที่ใช้ในผู้ใหญ่

ส่วนในผู้ใหญ่ มักจะหายช้ากว่าเด็ก อาจมีอาการนานเป็นเดือนเป็นปี

ถ้ามีอาการนานเกิน 6 เดือน (เป็น "ไอทีพีชนิดเรื้อรัง") อาจจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยา/วิธีการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น (เช่น การผ่าตัดม้าม) ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมามากขึ้นได้ (เช่น หลังผ่าตัดม้าม มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อง่ายขึ้น) วิธีรักษาเหล่านี้อาจช่วยให้หายขาดได้ แต่บางรายก็อาจเรื้อรังเป็นปี ๆ

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีจุดแดง จ้ำเขียวตามร่างกาย หรือมีรอยฟกช้ำ หรือก้อนเลือดขังที่ใต้ผิวหนัง หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น มีเลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมาก ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นไอทีพี ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ มีเลือดออก
    หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวด (เช่น แอสไพริน) และยาแก้ข้ออักเสบ (เช่น ไอบูโพรเฟน) กินเอง เพราะอาจเสริมให้เลือดออกมากขึ้น

ควรกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ซึมมาก หรือ ชัก หรือสงสัยมีเลือดออกในสมอง
    มีเลือดออก ทำการห้ามเลือดเบื้องต้นแล้วเลือดไม่หยุดไหล
    มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก หรือ ซีด
    มีประจำเดือนออกมากอย่างผิดปกติ ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด
    ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บ
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีไข้สูง ลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี แต่ก็อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสำหรับภาวะที่มีความสัมพันธ์กับโรคไอทีพี อาทิ

    ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก เช่น วัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส
    หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จัด เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง สารหนู เบนซีน) ซึ่งฤทธิ์ชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน และไอบูโพรเฟน ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด (ทำให้เลือดออกง่าย)

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้ส่วนมากไม่มีอันตรายร้ายแรง และมีทางรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะอย่างในเด็กมักจะหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา

ส่วนในผู้ใหญ่ มักหายช้ากว่าเด็ก บางรายอาจเป็นเรื้อรัง นานกว่า 6 เดือน อาจนานเป็นปีๆหรือนับสิบ ๆ ปี ซึ่งสามารถรักษาให้หายหรือมีชีวิตยืนยาวและมีคุณภาพเท่าคนปกติทั่วไปได้

2. ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมากแต่มีอันตรายถึงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ก็คือ ภาวะเลือดออกในสมอง ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเฝ้าสังเกตอาการของตัวเองให้ดี หากมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้สามารถได้รับการตรวจรักษาภาวะร้ายแรงแต่เนิ่น ๆ และปลอดภัย