ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลสุขภาพ: หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)  (อ่าน 185 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 201
  • ซื้อขายสินค้ายานยนต์ โพสฟรีสินค้าทั่วไทย
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลสุขภาพ: หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)
« เมื่อ: วันที่ 30 กันยายน 2023, 20:30:36 น. »
หลอดลมฝอยอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของทางเดินหายใจส่วนล่างที่พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี พบมากในช่วงอายุ 2-8 เดือน พบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน พบได้บ่อยในทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ พบน้อยในทารกที่กินนมมารดา


สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่สำคัญคือ กลุ่มอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus/RSV) ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก* เชื้อนี้สามารถติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสผ่านวัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ เชื้อมักจะแพร่กระจายลงไปที่หลอดลมฝอย (bronchioles) ทำให้เยื่อบุผิวอักเสบบวม และหลั่งเมือก (เสมหะ) ออกมามาก เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ มีอาการไอและหายใจหอบ

ระยะฟักตัว (สำหรับการติดเชื้ออาร์เอสวี) 2-5 วัน

* เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในคนทุกวัย การติดเชื้อครั้งแรกเกิดในเด็กเล็ก มักจะรุนแรง หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อซ้ำอีก ในเด็กอายุมากกว่า 3 ปี และผู้ใหญ่ การติดเชื้อมักจำกัดอยู่ในทางเดินหายใจส่วนต้น กลายเป็นเพียงไข้หวัด


อาการ

แรกเริ่มอาการแบบไข้หวัด คือ ไข้ น้ำมูกไหล และไอ 2-5 วันต่อมาเด็กจะมีอาการไอรุนแรง และหายใจหอบ มีเสียงดังวี้ด เด็กจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ไม่ยอมดูดนมหรือกินอาหาร บางรายอาจมีอาการอาเจียนหลังไอ อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ ในรายที่หอบมากมักมีอาการปากเขียว


ภาวะแทรกซ้อน

อาจเกิดภาวะขาดน้ำ ปอดอักเสบ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย ภาวะปอดแฟบ (atelectasis) จากการอุดกั้นของหลอดลม

บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย

ที่ร้ายแรง คือ กลุ่มอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (acute respiratory distress syndrome/ARDS) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง มักเกิดกับทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เอดส์) โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคทางปอดเรื้อรัง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย

มักตรวจพบไข้ 38-39 องศาเซลเซียส บางรายอาจไม่มีไข้

รายที่เป็นรุนแรงจะพบอาการหายใจเร็ว (มากกว่า 50-60 ครั้ง/นาที) ชีพจรเต้นเร็ว ซี่โครงและลิ้นปี่บุ๋ม ปากเขียว พบภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาลึก กระหม่อมบุ๋ม ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น

การเคาะปอดมีเสียงโปร่ง (hyperresonant) การฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด (wheezing) กระจายทั่วไป เสียงหายใจออกยาวกว่าปกติ และอาจมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation)

บางรายอาจตรวจพบหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ทดสอบทางน้ำเหลือง (เช่น ELISA) เพื่อพิสูจน์เชื้อต้นเหตุ


ข้อมูลสุขภาพ: หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops